การส่งเสริมสุขภาพหญิงหลังคลอด
ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย

กุสุมาศ ตันไชย สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา #BSRU #SciBSRU #ThaiMedBSRU

การดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดจะใช้วิธีการดูแลตนเองด้วย การอยู่ไฟ การทับหม้อเกลือ การประคบสมุนไพร การเข้ากระโจม การอบไอน้ำสมุนไพร และการนวด เป็นต้น การอยู่ไฟในหญิงหลังคลอดแบ่งออกเป็น 2 ประการ ได้แก่

  1. การคลอดธรรมชาติ (NORMAL LABOR) คือการให้กำเนิดบุตรด้วยการเบ่งคลอดเองทางช่องคลอด โดยไม่ทำการผ่าตัด หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาของอายุครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 42 สัปดาห์ โดยทารกจะอยู่ในท่ากลับศีรษะแล้วจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวมายังอุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมคลอดแบบธรรมชาติ การคลอดแบบธรรมชาติเป็นวิธีการคลอดที่แพทย์มักแนะนำ เนื่องจากมีความปลอดภัยต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกที่คลอดออกมา เพราะไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ หรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง ความปลอดภัย มีโอกาสติดเชื้อในมดลูกน้อย และมีการเสียเลือดน้อยกว่าการคลอดแบบผ่าตัด การคลอดธรรมชาติโดยเฉพาะการคลอดในท้องแรกนั้น ปากช่องคลอดจะมีความยืดหยุ่นไม่เยอะเท่าคนที่เคยคลอดมาแล้ว จึงทำให้มีแผลฝีเย็บเพื่อช่วยเปิดช่องทางคลอดให้ลูกน้อยคลอดออกมาได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่แผลจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 2–4 เซนติเมตรเท่านั้น ฟื้นตัวได้รวดเร็ว เนื่องจากมีแผลเย็บที่เล็กและไม่ได้ผ่านการดมยาสลบ ส่งผลให้คุณแม่มีอาการเจ็บไม่นาน จึงสามารถเคลื่อนไหว ลุก นั่ง เดินได้หลังการคลอด และใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติจะมีเวลาอยู่กับลูกน้อยได้เร็วขึ้น และกลับบ้านได้เร็วอีกด้วย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้ โดยทารกได้ภูมิคุ้มกันจากเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดของมารดา และได้รับ Probiotic มากกว่าการผ่าคลอดทางหน้าท้อง จึงเป็นเหมือนการเสริมสร้างภูมิของทารกในครรภ์ที่เมื่อคลอดแล้วก็จะมีภูมิอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ ควรรอให้ครบ 7 วัน หรือแผลฝีเย็บแห้งสนิท จึงจะอยู่ไฟได้
  2. การผ่าคลอด (CESAREAN SECTION) คือ การคลอดด้วยการผ่าตัดแทนการคลอดแบบธรรมชาติทางช่องคลอด ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีเปิดปากแผลบริเวณระหว่างหน้าท้องและมดลูก หากคลอดธรรมชาติไม่ได้ หรือการคลอดธรรมชาติอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อแม่และบุตร มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น เชิงกรานแคบ ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติ หัวใจทารกเต้นผิดปกติ ครรภ์แฝด ครรภ์เป็นพิษ รกเกาะต่ำ สายสะดือสั้นเกินไป และความไม่พร้อมทางด้านร่างกายหลายอย่างของสุขภาพแม่ หรือแม้แต่การคลอดในภาวะฉุกเฉิน แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดคลอด ปัจจุบันการผ่าคลอดจัดเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัยสูง ดังนั้นทั้งแพทย์และคุณแม่จึงนิยมผ่าตัดคลอดกันมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ผ่าเพราะเหตุผลทางการแพทย์ก็เปลี่ยนไปเป็นเหตุผลอื่นๆ เช่น ไม่อยากเจ็บปวดมาก สามารถกำหนดวันที่คลอดได้ คุณแม่บางรายกลัวช่องคลอดฉีกขาดมาก กลัวช่องคลอดหลวมหลังคลอด เป็นต้น แม้ว่าการผ่าคลอดในปัจจุบันจะมีความปลอดภัยสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการคลอดปกติ การผ่าตัดคลอดก็ยังคงมีอันตรายมากกว่าการคลอดทางช่องคลอดอยู่ดี ดังนั้นหากคุณแม่คลอดโดยวิธีผ่าตัดควรจะรอให้เกิน 1 เดือน ก่อนจึงจะอยู่ไฟได้

ข้อควรระวังในการอยู่ไฟหลังคลอด

1)ห้ามทำในรายที่มีไข้

2)ห้ามทำกรณีที่มดลูกยังลอยตัว ต้องรอให้มดลูกเข้าอู่ก่อน

3) การคลอดโดยวิธีผ่าตัด ควรจะรอให้เกิน 1 เดือน

การส่งเสริมสุขภาพหญิงหลังคลอดตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยมีรายละเอียดดังนี้

การประคบสมุนไพร หมายถึง การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิด เช่น ไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ ผิวมะกรูด การบูร พิมเสน เกลือ ใบมะขาม เป็นต้น นำมาโขลกพอแหลก คลุกรวมเข้ากัน ห่อเป็นลูกประคบ นำมาผ่านไอความร้อนจากน้ำเดือด เมื่อได้ความร้อนจากไอเต็มที่ นำลูกประคบมาประคบบริเวณหลัง สะโพก ท้อง และขา สมุนไพรที่ใช้ประคบส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เมื่อถูกความร้อนจะส่งกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ประโยชน์ของการประคบด้วยสมุนไพรในหญิงหลังคลอด ได้แก่ ลดการเป็นตะคริว ลดการช้ำบวม ลดการอักเสบ กระตุ้นให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และช่วยคลายกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อย ช่วยให้การหายใจดีขึ้น

การอาบน้ำสมุนไพร คือการนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำมาอาบ สมุนไพรที่ใช้ต้ม เช่น ไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ ผิวมะกรูด ใบเปล้า ใบหนาด เป็นต้น การอาบน้ำสมุนไพรจะทำร่วมกับการประคบเปียก หรืออบสมุนไพรโดยปรับตามความเหมาะสม การอาบสมุนไพรช่วยให้ร่างกายสดชื่น ผิวหนังสะอาด ลดอาการคัน ลดอาการหวัด คัดจมูก เพื่อป้องกันผิวหนังอักเสบ เป็นการบำรุงผิวพรรณไปในตัว

การอบไอน้ำสมุนไพร คือ การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มในกระโจม เพื่อให้ไอน้ำที่ได้จากการต้ม ซึ่งจะต้องอยู่ในที่มิดชิด เพื่อให้ร่างกายได้รับไอน้ำอย่างทั่วถึง ในปัจจุบันจะมีการปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้สะดวกขึ้น เป็นการอบสมุนไพรในตู้อบสำเร็จรูปหรือห้องอบสมุนไพร ส่วนสมุนไพรที่ใช้จะใช้เหมือนกับการอบไอน้ำสมุนไพร

ข้อมูลอ้างอิงจาก
1. สถาบันการแพทย์แผนไทย. (2551). การดูแลสุขภาพหญิงคลอดด้วยการแพทย์แผนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กิจการ โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
2. โรงพยาบาลนครธน ออนไลน์ https://link.bsru.ac.th/p9q
3. เยาวลักษณ์ รพีพัฒนา. (2565). สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้เกี่ยวกับการผ่าคลอด.บทความสุขภาพ. ออนไลน์ https://link.bsru.ac.th/p9p
4. เยาวลักษณ์ รพีพัฒนา. (2565). ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ.บทความสุขภาพ. ออนไลน์ https://link.bsru.ac.th/p9r

--

--