ปูพื้นฐาน UNPLUGGED CODING สู่การพัฒนาเด็กปฐมวัย ตอนที่ 2

yuwarat jongjairak
5 min readMar 11, 2024

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding ที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2560

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ม.ป.ป., น. 31–32) ได้กำหนดสาระสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 เอาไว้ดังนี้

1. ภาพรวมของการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงคำนวณและการเขียนโค้ด

1.1 จากเอกสาร K–12 Computer Science Framework ของสหรัฐอเมริกาได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัยว่าครูควรจัดประสบการณ์อยู่ในบริบทของเด็กปฐมวัยด้วยการต่อยอดจากกิจวัตรประจำวันในสภาพแวดล้อมปกติของเด็กหรือกิจกรรมที่ครูจัดประสบการณ์ให้กับเด็กอยู่แล้ว การจัดประสบการณ์การเรียนรู้นี้ควรอยู่บนฐานของการเรียนรู้ผ่านการเล่น เน้นการส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์จิตใจ และจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม ครูควรมุ่งเน้นการพัฒนาแนวคิดและความสามารถที่เป็นพื้นฐานของการคิดเชิงคำนวณและการเขียนโค้ด ได้แก่ แบบรูป (Patterns) การแก้ปัญหา (Problem solving) การใช้ตัวแทน (Representation) และการเรียงลำดับ (Sequencing) ซึ่งควรจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยบูรณาการกับการเรียนรู้ภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัย

1.2 การจัดการเรียนรู้การคิดเชิงคำนวณและการเขียนโค้ดจัดอยู่ในสาระวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสาระวิทยาการคำนวณ ในมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

1.3 การส่งเสริมให้เด็กมีลักษณะนิสัยและทักษะพื้นฐานของการเป็นโปรแกรมเมอร์สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในระดับอนุบาล ครูและผู้ปกครองสามารถส่งเสริมได้ด้วยการเป็นแบบอย่างของการคิดอย่างเป็นระบบ ปลูกฝังให้เด็กคิดและทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีระบบระเบียบผ่านกิจวัตรและกิจกรรมประจำวัน รวมทั้งจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กได้รับการปูพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และส่งเสริมการคิดเชิงคำนวณและการเขียนโค้ดอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย

1.4 การที่เด็กมีความสามารถในการคิดเชิงคำนวณจะส่งเสริมให้เด็กสามารถเขียนโค้ดได้ขณะเดียวกันการฝึกให้เด็กเขียนโค้ดก็จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาการคิดเชิงคำนวณไปด้วย

2. เป้าหมายและขอบเขตของการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2560

2.1 เป้าหมายของการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กระดับอนุบาลของไทยที่เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษา ได้แก่ 1) แก้ปัญหาอย่างง่ายได้ 2) แสดงลำดับขั้นตอนการทำงานโดยใช้ภาพและ/หรือสัญลักษณ์ 3) เขียนโค้ดอย่างง่ายโดยใช้สื่อแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ผ่านการเล่น ซึ่งในระดับอนุบาล โค้ด หมายถึง สัญลักษณ์แทนการดำเนินการ อาจเป็นภาพ ตัวอักษร ตัวเลข คำ หรืออักขระพิเศษ และการเขียนโค้ด หมายถึง การเขียนสัญลักษณ์แทนคำสั่งอย่างง่ายในการดำเนินการอย่างเป็นลำดับ

2.2 หากเด็กอนุบาลได้เรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ตามเป้าหมาย 3 ประการนี้ จะทำให้เด็กได้รับการพัฒนาการให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์และตัวบ่งชี้ของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ได้แก่ มาตรฐานที่ 9 ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย ตัวบ่งชี้ที่ 9.2 อ่าน เขียนภาพ และสัญลักษณ์ได้ และมาตรฐานที่ 10 มีความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ ตัวบ่งชี้ที่ 10.1 มีความสามารถในการคิดรวบยอด และตัวบ่งชี้ที่ 10.3 มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ

2.3 ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 มีประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาซึ่งเป็นการปูพื้นฐานของการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ในด้านการแก้ปัญหา แบบรูป การเรียงลำดับ และการใช้ตัวแทน และเป็นการส่งเสริมการคิดเชิงคำนวณ รวมถึงการเขียนโค้ด ครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็ก โดยเลือกประสบการณ์สำคัญที่เป็นหลักในการจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสมกับเวลาและกิจกรรม และควรบูรณาการเข้ากับกิจกรรมประจำวัน

ภาพเป้าหมายการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ในระดับอนุบาล ที่มา : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ม.ป.ป., น. 38)

3. แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ในระดับอนุบาล

3.1 การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ในระดับอนุบาล ควรเริ่มต้นจากการปูพื้นฐานทางด้านสติปัญญาในด้าน ภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์โดยทั่วไปให้กับเด็กก่อน โดยจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการผ่านการเล่นร่วมกันในลักษณะต่าง ๆ จากนั้นจึงพัฒนาแนวคิดและทักษะที่เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์โดยตรง ได้แก่ การแก้ปัญหา แบบรูป การเรียงลำดับ และการใช้ตัวแทน เมื่อเด็กมีพื้นฐานแล้วจึงจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดเชิงคำนวณและการเขียนโค้ดซึ่งเป็นแนวคิดและทักษะของวิทยาการคอมพิวเตอร์

3.2 การพัฒนาการคิดเชิงคำนวณ สามารถจัดเป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาแต่ละองค์ประกอบแยกกัน เช่น กิจกรรมฝึกการสร้างแบบรูป กิจกรรมฝึกการจัดเรียงลำดับสิ่งของหรือเหตุการณ์ หรืออาจจัดเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ทุกองค์ประกอบของการคิดเชิงคำนวณร่วมกัน เช่น กิจกรรมที่ต้องใช้กระบวนการการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การสืบเสาะหาความรู้ หรือการสร้างชิ้นงาน

ภาพ แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ในระดับอนุบาล ที่มา : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ม.ป.ป., น. 39)

นอกจากนี้ เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว (2565 อ้างถึงใน เกศิณี ศิิริสุนทรไพบูลย์, 2566, น. 79) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ครูปฐมวัยสามารถบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ Unplugged Coding ด้วยการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านนิทาน ซึ่งธรรมชาติของเด็กปฐมวัยชื่นชอบการฟังนิทานและมีจินตนาการกับการฟังนิทานเป็นอย่างดี ครูควรพิจารณาเลือกใช้นิทานที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ส่งเสริมการแก้ปัญหา การใช้ตัวแทน การเรียงลำดับ และแบบรูป ส่งเสริมการคิดเชิงคำนวณในแต่ละองค์ประกอบหรือหลายองค์ประกอบ และส่งเสริมการเขียนโค้ด โดยครูควรใช้คำถามกระตุ้นการคิดหรือฝึกทักษะของเด็กในระหว่างหรือหลังจากการอ่านนิทานแล้ว

การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วย Unplugged Coding สำหรับเด็กปฐมวัยยังมีข้อควรระวังบางประการ คือ การเล่นสนุกเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการจัดการเกี่ยวกับการเล่น การเล่นเช่นนี้จะไม่มีความหมายใดกับเด็ก เมื่อเด็กเล่นเกมเกี่ยวกับ Unplugged Coding เสร็จแล้ว ครูควรพูดคุยกับเด็กว่าได้รับสิ่งใดจากการเล่นหรือในขณะที่ทำกิจกรรมนั้นเด็กคิดอย่างไร นอกจากนี้ครูและผู้ปกครองไม่ควรเข้าไปช่วยเหลือเด็กขณะที่เล่นมากเกินไปเพราะว่าเด็กจะทำไม่ได้ แม้การเล่นในครั้งแรก ๆ จะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา หากผู้ใหญ่คอยบอกและช่วยเหลือเด็กทุกครั้ง เด็กจะไม่ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ใด ๆ ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรให้โอกาสเด็กได้พบกับความผิดพลาดและเติบโตขึ้นจากกระบวนการแก้ปัญหาด้วยตนเอง จึงควรช่วยเหลือเด็กเมื่อจำเป็นเท่านั้น (Hong Ji-yeon & Shin Kap-cheon, 2562, P. 8 อ้างถึงใน เกศิณี ศิิริสุนทรไพบูลย์, 2566, น. 79) เมื่อเด็กปฐมวัยได้เริ่มเล่นเกม Unplugged Coding ทีละเล็กทีละน้อยด้วยความสนุกสนานจะสามารถนำแนวคิดต่าง ๆ ที่เด็กได้รับไปปรับใช้ในการเรียนรู้วิทยาการคำนวณขั้นสูงขึ้นนำไปสู่การเรียนรู้หลักการพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ต่อไป

สรุปได้ว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding หรือ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเป้าหมายและแนวทางของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2560 รวมถึงต้องวิเคราะห์ประสบการณ์สำคัญในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ที่เป็นการส่งเสริมคิดเชิงคำนวณและการเขียนโค้ดสำหรับเด็กอนุบาล

ตัวอย่างกิจกรรม Unplugged coding

การเรียนแบบ Unplugged Coding นอกจากจะเป็นการวางรากฐานเรื่องการเขียนโค้ดให้กับ เด็กปฐมวัยแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องความความสำเร็จ และมองเห็นว่าความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ดี มีพื้นที่ให้ได้แก้ไข ทดลองและเรียนรู้จากความผิดพลาด ทั้งยังทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ทักษะอันมีค่าต่อชีวิต เช่น ความอดทน ความบากบั่น รวมถึงความมั่นใจในตัวเองอีกด้วย

พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู จึงควรปลูกฝัง ทักษะชีวิต ที่สำคัญให้กับเด็กได้ตั้งแต่ยังเล็กด้วยกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding แสนสนุกดังต่อไปนี้ (ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล, 2567, น. ออนไลน์)

  1. ฝึกการคิดแบบอัลกอริทึมจากกิจวัตรประจำวัน
ภาพ ฝึกการคิดแบบอัลกอริทึมจากกิจวัตรประจำวัน ที่มา : ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล (2567, น. ออนไลน์)

ตัวอย่างที่สามารถทำได้ง่าย ๆ เลย ก็คือ ให้เด็กแต่งตัวด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูอาจเริ่มจากการตั้งคำถามว่าหลังจากเด็กอาบน้ำเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องแต่งตัวจะใส่เสื้อผ้าชิ้นไหนก่อนและมีการเรียงลำดับอย่างไร หรือจะเริ่มตั้งแต่ให้รู้จักการวางแผนกิจกรรมในห้องน้ำของตัวเอง เช่น ให้เด็กคิดว่าควรจะเรียงลำดับการอาบน้ำ สระผม และแปรงฟันอย่างไร เพื่อฝึกให้รู้จักการคิดเป็นขั้นตอนและทำตามเป้าหมายได้สำเร็จด้วยดีนั่นเอง

2. ถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์แล้ว “จงเล่น”

ภาพ เกมล่าสมบัติ ที่มา : ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล (2567, น. ออนไลน์)

แบรดลีย์ เดวีส์ (Bradley Davies) คุณครูและหัวหน้าฝ่าย EdTech แห่ง Kämmer International Bilingual ระบุว่า การทำกิจกรรมผ่าน Unplugged Coding ด้วยการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติและเล่นด้วยตัวเอง จะทำให้เด็กเกิดทักษะการคิด การวางแผน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ช่วยฝึกฝนทักษะการเข้าสังคม และการทำงานร่วมกันได้อย่างประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ การเล่นแบบ unplugged จะต้องเป็นกิจกรรมที่สนุก และใช้ความคิด ผ่านการตั้งโจทย์ที่มีกฎกติกาง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่มีการคำนวณที่น่าตื่นเต้น และต้องเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ค้นพบได้ง่าย การเล่นแบบนี้จะทำให้เด็กสามารถใส่ไอเดียได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังทำให้เกิดความอยากรู้ อยากจะคิด และคิดมากขึ้น เพื่อเล่นให้สนุกสุดๆ ได้ด้วยตัวเอง

เกมล่าสมบัติ คือตัวอย่างกิจกรรม Unplugged Coding ที่สนุกได้ทั้งครอบครัว วิธีเล่นง่าย ๆ เพียงแค่ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูวางสิ่งของที่สมมติว่าเป็นสมบัติล้ำค่าไว้รอบห้อง จากนั้นวาดแผนที่เพื่อกำหนดจุดเริ่มต้น เช่น เดินไปข้างซ้ายสองก้าว ก้าวทางขวาสองก้าว ลอดใต้โต๊ะ แล้วเดินต่อไปทางซ้ายสามก้าว จนไปถึงจุดวางสมบัติที่ซ่อนไว้ และอย่าลืมเพิ่มกติกาว่า หากก้าวผิดกติกา จะต้องย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นใหม่ เกมนี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ทักษะการแก้บั๊กส์ (bugs) หรือการแก้ไขจุดบกพร่องแบบเบื้องต้นสำหรับการก้าวไปสู่การเรียนเขียนโค้ดในชั้นประถมอย่างจริงจัง

3. สนับสนุนให้เกิด “นักประดิษฐ์น้อย”

ภาพ นักประดิษฐ์น้อย ที่มา : ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล (2567, น. ออนไลน์)

สร้างหุ่นยนต์จากตัวต่อ ด้วยการกำหนดโจทย์ของการต่อแต่ละครั้ง เพื่อเพิ่มความสนุก เรียนรู้เรื่องอัลกอริทึ่ม การจัดลำดับ และส่งเสริมกระบวนการคิด เช่น กำหนดจำนวนของตัวต่อ กำหนดสีที่ต้องใช้ สำหรับต่อให้เป็นหุ่นยนต์ตามจินตนาการ จากนั้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูค่อย ๆ สร้างโจทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

สร้างมอนสเตอร์น้อยของจากของเหลือใช้ เช่น แก้วพลาสติก แกนกระดาษทิชชู่ หลอดพลาสติก เริ่มต้นด้วยการชวนเด็กออกแบบอวัยวะต่าง ๆ ของมอนสเตอร์ลงบนกระดาษก่อน โดยให้เด็กเรียงว่าจะต้องวาดอวัยวะอะไรก่อน อะไรหลัง อวัยวะเหล่านั้นควรอยู่ตรงไหน ใช้ทำอะไรบ้าง แล้วค่อยวาดอวัยวะเหล่านั้น ลงบนแก้วพลาสติก หรือแกนกระดาษทิชชู่ ทีละใบ แล้วนำมาซ้อนต่อกันให้เกิดเป็นรูปร่างตามจินตนาการ

นอกจากจะช่วยส่งเสริมการคิดอย่างสร้างสรรค์แล้ว การเล่นแบบนี้ยังสามารถช่วยส่งเสริมแนวคิดเชิงนามธรรม (abstraction) ให้กับเด็กได้อีกด้วย

4. ชวนลูกสร้างเรื่อง (Storytelling)

ภาพ เล่าเรื่องราวสมมติ ที่มา : ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล (2567, น. ออนไลน์)

การกระตุ้นให้เด็กเล่าเรื่องราวสมมติ คือวิธีที่ดีที่จะช่วยให้เรียนรู้การคิดเป็นขั้นเป็นตอน และยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทักษะการเขียนโค้ดในวัยประถม

มีงานวิจัยพบว่า การทำงานของสมองที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่าเหตุการณ์สมมตินั้นเกือบจะเหมือนกับสมองที่ทำงานตอนที่เด็กเห็นสถานการณ์จริงได้ ดังนั้น เมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูฟังดี ๆ จะพบว่า จากเรื่องสมมตินั้น ทำให้เด็กเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้วิธีแก้ไขอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร และต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูอาจช่วยให้คำแนะนำที่เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงต่อไปได้

นอกจากจะชวนเด็กเล่าเรื่องแบบปากเปล่าแล้ว เราสามารถพัฒนาทักษะของเด็กขึ้นไปอีกได้ด้วยการแบ่งเรื่องราวจากการเล่าของเด็กออกเป็นตอน ๆ แล้วชวนเขียนเป็นคำ หรือ วาดภาพง่าย ๆ ใส่กระดาษแยกเป็นชิ้น ๆ จากนั้นให้เด็กทำสิ่งที่เขียนใส่กระดาษมาต่อให้เป็นเรื่องราว ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบอย่างถูกต้อง กิจกรรมนี้จะช่วยฝึกการคิดอย่างมีเหตุผล คิดวิเคราะห์ แยกแยะ และเรียบเรียงลำดับให้ถูกต้องนั่นเอง

จากการศึกษาตัวอย่างการจัดกิจกรรม Unplugged Coding พบว่า มีกิจกรรมที่ใช้ในแนวคิดเชิงคำนวณที่หลากหลาย เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไป เช่น กระดาษ การ์ด ขนม เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่ก็สามารถเรียนแนวคิดพื้นฐานของการคิดเชิงคำนวณได้

สรุป

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และพัฒนาการคิดเชิงคำนวณ การคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสาระสำคัญที่ควรเรียนรู้ประกอบไปด้วย วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการรู้ดิจิทัล

สำหรับเด็กอนุบาลจะจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ Unplugged Coding แบบไม่ใช่คอมพิวเตอร์ สามารถจัดเป็นกิจกรรมเพื่อฝึกให้เด็กได้คิดและลงมือปฏิบัติกับสื่อต่าง ๆ รอบตัว เช่น การสังเกต จำแนก เปรียบเทียบ และจัดกลุ่มสิ่งของต่าง ๆ การสังเกตแบบรูปของสิ่งต่าง ๆ การทำซ้ำ ต่อเติม และสร้างแบบรูปของสิ่งของการสังเกต และเรียงลำดับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันโดยการใช้สื่อบัตรภาพหรือสัญลักษณ์ การสังเกตและระบุสัญลักษณ์ที่พบในชีวิตประจำวัน หรือการกำหนดสัญลักษณ์เพื่อแทนการกระทำบางอย่าง โดยครูควรจัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับบริบทรอบตัวเด็กและใช้สื่อที่เด็กคุ้นเคย รวมถึงควรฝึกให้เด็กได้คิดวางแผนในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดสื่อสารและให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างพื้นฐานการคิดเชิงคำนวณ คิดเชิงสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ และคิดอย่างเป็นระบบมีขั้นตอน มีเหตุผล รู้เท่าทันสื่อสื่อดิจิทัล อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และมุ่งสู่การเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในอนาคตเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบพลิกผัน

เอกสารอ้างอิง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2566). เรียนรู้วิธีเขียน Coding แบบ ‘ถอดปลั๊ก’ ลดความเหลื่อมล้ำโรงเรียนขนาดกลาง. https://www.eef.or.th/infographic-23423/

เกศิณี ศิิริสุนทรไพบูลย์. (2566). วิทยาการคำนวณกับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย. วารสารนวัตกรรมสังคมและเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน, 6(1), 72–80.

ครูมืออาชีพ. (2565). วิทยาการคำนวณ โค้ดดิ้ง Unplugged Coding สำหรับเด็กปฐมวัย. https://link.bsru.ac.th/ukh

ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล. (2562). เกมการเรียนรู้แบบ Unplug. https://www.scimath.org/article-technology/item/10631-unplug

ชฎารัตน์ พิพัฒนนันท์ . (2563) . CS Unplugged เรียน Coding โดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์. https://www.starfishlabz .com/blog/80-cs-unplugged

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ และรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา. (2562). CODING คืออะไร ครูไทยพร้อมไหม ทำไมหนูต้องเรียน. https://thepotential.org/2019/10/07/coding-in-school- scoop/?fbclid=IwAR18ro6WPcFMfopW8yuwBYMK7m4jH9hG2UJFELxVdstpl3z6hsb5Jerc4U

นิภาพร กัณหา. (2566). การจัดประสบการณ์ด้านวิทยาการคำนวณที่ส่งเสริมความสามารถด้านการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย. [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม]. ฐานข้อมูลงานวิจัย (ThaiLis).

แปลน ฟอร์ คิดส์. (2564). มาทำความรู้จัก Coding กัน. https://www.planforkids.com/kids_corner/coding-preschool

ผนวกเดช สุวรรณทัต. (2562, 30 พฤศจิกายน). Coding คืออะไร. ใน (ศิริเดช สุชีวะ), สัมมนาวิชาการ Coding for Education. คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภูมิปรินทร์ มะโน. (2562). สอน CODING อย่างไรให้ง่าย สนุกเหมือนสนามเด็กเล่น. https://thepotential.org/voice-of-new-gen/coding-from-coder-poomparin/

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล. (2567). Unplugged Coding : ฝึกทักษะการคิดเป็นขั้นตอนด้วยการเรียนรู้แบบUnpluggedCoding.

https://aboutmom.co/uncategorized/unplugged-coding/31345/

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). (2562, 11 ตุลาคม). วิชา Coding ที่เด็กไทยได้เรียน. Facebook. https://link.bsru.ac.th/urv

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2560). คู่มือการใช้หลักสูตรรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สาระเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา.

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ. (2563). กรอบการเรียนรู้และแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัย ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560. บริษัท โกโกพริ้นท์ (ไทยแลนด์) จำกัด.

สถาบัน Code Genius. (2565). Unplugged coding เรียน coding โดยไม่ต้องใช้คอม ไม่กลัวสมาธิสั้น. https://codegeniusacademy.com/unplugged-coding/

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.). หลักสูตรอบรม การจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาการคำนวณระดับอนุบาล. Ebook http://academic.obec.go.th/web/images/document/1590999209_d_1.pdf

สิราวิชญ์ จิราวราเกียรติ. (2564). รู้ก่อนสาย Coding ฉบับเข้าใจง่าย มันใกล้ตัวเราแค่ไหน เริ่มต้นยังไงกับเยาวชน. https://www.beartai.com/article/tech-article/582417

สุริยา ชาปู่ และสุรีย์พร สว่างเมฆ. (2566). การพัฒนาทักษะทางสมองและทักษะความคิดของนักเรียนปฐมวัย โดยใช้กิจกรรม Coding. Journal of Roi Kaensarn Academi, 8(2), 217–234.

อารีวรรณ ไชยกาญจน์, ปิยะนันท์ หิรัณย์ชโลทร และอรพรรณ บุตรกตัญญู. (2565). ผลของการจัดกิจกรรมเกม ดนตรี และเคลื่อนไหวผสาน Unplugged Coding เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงคำนวณของเด็กปฐมวัย. วารสารวิชาการ การจัดการภาครัฐและเอกชน, 4(2), 123–137.

Bell, T., Witten, I. and Fellows, M. (1998). Computer Science Unplugged… off-line activities and games for all ages. [Web Blog]. Available https://classic.csunplugged.org/documents/books/english/unplugged-bookv1.pdf

CodeLab. (2564). Unplugged Coding คืออะไร??. https://link.bsru.ac.th/ukp

CodingThailand. (2567). Unplugged Coding ไม่มีคอมก็เล่นได้ !!!. https://codingthailand.app/resources/85nj70W3pGuOReEih1UZn

insKru. (2565). Unplugged Coding สนุกไปกับโค้ดดิ้งแบบไม่ง้อคอมฯ. https://inskru.com/idea/-NAC7o4fYEDJtdpj7cp_

Jai Jirakasem. (2566). Unplugged Coding คืออะไร — แนะนำสื่อการสอนโค้ดดิ้ง (Coding). https://www.twinkl.co.th/blog/unplugged-coding-and-coding-resources

Joohi Lee and Jo Junoh (2019). Implementing Unplugged Coding Activities in Early Childhood Classrooms. Early Childhood Education Journal, 47, 709–716.

Kim Dae-wook. (2019). Concept and strategy of unplugged coding for young children based on computing thinking. The Journal of the Convergence on Culture Technology (JCCT). Vol. 5, №1, pp.297–303.

Parents One. (2562). ทำความรู้จักกับ Coding วิชาแห่งโลกอนาคต. https://www.parentsone.com/what-is-coding/

Starktechacademy. (2567). Coding คืออะไร ทำไมต้องเรียน Coding ตั้งแต่เด็ก. https://www.starktechacademy.com/what-is-coding-for-kids/

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา…

https://link.bsru.ac.th/utf

--

--